ส่งใบสมัครไปนานแล้ว ทำไมไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์สักที ?
การตอบคำถามนี้ เหมือนกับฉันนำความลับของงานบุคคลมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ แต่ความลับที่ว่าไม่ได้สลักสำคัญอะไรมากนักหรอก เพียงแต่ไม่จำเป็นที่บริษัทต่างๆต้องออกมาป่าวประกาศให้คนอื่นได้รู้กันเท่านั้นเอง

การที่คุณไม่ได้ถูกเรียกสัมภาษณ์สักที ทั้งที่ร่อนใบสมัครไปหลายที่ แถมรออยู่นานแล้ว ฉันมี 2 คำตอบมาให้คุณ

คำตอบแรก....คุณไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนั้น ไม่ว่าด้วยคุณสมบัติอะไรก็แล้วแต่ การศึกษาประสบการณ์ ความสามารถพิเศษ บุคลิกภาพ หรือหน้าตา ยิ่งถ้าคุณสมัครงานทุกบริษัทในตำแหน่งเดียวกันอีกโอกาสที่คุณจะได้งานนั้นก็มีน้อยมาก ถ้าตำแหน่งที่สมัครไม่เหมาะกับคุณด้วยประการทั้งปวงเหมือนกับการเสิร์ฟลูกเทนนิสลงจุดเดียวอยู่เรื่อยๆจนคู่ต่อสู้จับทางได้คุณก็หมดทางที่จะชนะ ลองเปลี่ยนตำแหน่งจุดเสิร์ฟดูบ้าง บางครั้งมันอาจทำให้คู่ต่อสู้สับสน สุดท้ายคุณอาจเป็นฝ่ายพลิกชนะในเกมนี้เสียเองก็ได้...เชื่อไหม

ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น คือ "การกระจายความเสี่ยง"นั่นเอง คุณไม่สามารถรู้ได้หรอกว่า คุณเหมาะสมกับตำแหน่งที่สมัครหรือเปล่า แล้วบริษัทเขาวัดความเหมาะสมนี้กันตรงไหน คุณอาจคิดว่า ก็ชอบงานนี้จะให้สมัครงานอื่นได้อย่างไร ฉันไม่ได้หมายความว่าคุณควรจะสมัครในตำแหน่งที่หลากหลายจนหาความเป็นตัวเองไม่ได้ แต่ต้องการให้คุณสร้างตัวเลือกให้กับตัวเองมากกว่า ไม่ใช่ยึดติดอยู่กับสิ่งเดิมๆ

ลองมองดูขอบเขตความสามารถที่คุณมีว่า คุณน่าจะทำงานในตำแหน่งใดได้บ้าง อาจเป็นตำแหน่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกันหรือต่างกันก็ได้ เช่น เจ้าที่การตลาดกับเจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจเจ้าหน้าที่การเงินกับเจ้าหน้าที่วิเคราะห์โครงการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลกับเลขานุการผู้บริหาร เป็นต้น
สังเกตได้ว่าไม่จำเป็นเลยที่คุณเรียนมาทางด้านการเงินแล้วต้องมุ่งไปที่เจ้าหน้าที่การเงินอย่างเดียว เห็นประกาศรับการเงินก็กระโดดเข้าใส่ซะทุกที คุณยังมีตัวเลือกอีกมาก ไม่ว่าเจ้าหน้าที่วิเคราะห์โครงการ เจ้าหน้าที่วางแผนพัฒนาธุรกิจ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่การตลาด คุณก็สามารถทำได้ ถ้าในคุณสมบัติของตำแหน่งนั้นระบุไว้ว่ารับผู้ที่จบด้านการเงินด้วย


ปัจจุบันมีหลายบริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ที่เรียนจบจากด้านหนึ่งมาทำงานอีกด้านหนึ่งได้ บนพื้นฐานความเชื่อ "ความรู้ดิ้นได้" ความรู้ทุกศาสตร์สามารถนำมาประยุกต์ใช่ร่วมกันได้ ถ้าในหน่วยงานนั้นมีความรู้หลายๆ ด้านมาสนับสนุนการทำงานน่าจะทำให้งานออกมาดีและมีประสิทธิภาพมากกว่าใช้ความรู้เพียงด้านเดียวแน่นอน

การสมัครงานแต่ละบริษัทคุณควรสมัครในตำแหน่งที่แตกต่างกันบ้าง เช่น คุณจบด้านจิตวิทยาอาจสมัครตำแหน่งเจ้าที่บุคคล เจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่ประสานงาน เลขานุการ ครูสอนเด็กอนุบาล เป็นต้น แม้ตำแหน่งต่างกัน แต่ ทั้ง 5 ตำแหน่งมีจุดร่วมที่เหมือนกันอยู่คือ การนำความรู้ความสามารถด้านจิตวิทยามาใช้ค่อนข้างมากในการทำงานนั่นเอง

เห็นไหมว่าทางเลือกมีมากมาย แม้คุณจะเรียนจบมาเพียงด้านเดียวก็เถอะ หมั่นสร้างทางเลือกให้กับตัวเอง แล้วความเสี่ยงในการไม่ได้งานของคุณจะเริ่มลดลง เมื่อคุณสมบัติของคุณไม่เหมาะกับตำแหน่งนี้ ต้องมีสักตำแหน่งละที่เหมาะกับคุณเชื่อฉันสิ ...ไม่ใช่การเหวี่ยงแหโดยไร้จุดมุ่งหมายแต่คุณเลือกแล้วต่างหากว่าแหล่งน้ำนี้มีปลาอยู่ชุกชุม...จริงไหม

คำตอบที่ 2...ตำแหน่งงานที่บริษัทประกาศยังไม่เปิดรับ (จริง) ในช่วงเวลาที่ประกาศ ฟังดูอาจงงๆ พูดให้ง่ายขึ้นอีกนิดคือ ประกาศเผื่อไว้ก่อน คำตอบนี้เองที่เป็นความลับของงานบุคคลที่ฉันเกริ่นเอาไว้ตอนรก ความจริงแล้วมันไม่ใช่ความผิดหรอกที่บริษัทต่างจะทำแบบนี้เพราะการมีผู้สมัครสำรองกรณีที่มีพนักงานลาออกที่ควรทำอย่างยิ่งแต่ไม่ใช่ประกาศที่หนึ่งเหมาตำแหน่งหมดบริษัทมาลงอย่างนี้ก็เอาเปรียบผู้สมัครมากเกินไป ควรคัดมาเฉพาะตำแหน่งที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราลาออกหรืออัตรารับเพิ่มในอนาคตอันใกล้เท่านั้น

สำหรับคุณในฐานะคนหางานควรดูประกาศรับสมัครของแต่ละบริษัทให้ดีก่อนตัดสินใจสมัครแบบไม่ยั้ง ในเมื่อลงทุนทั้งเงินและเวลาแล้วก็ควรให้ได้รับสิ่งที่คุ้มค่ากลับมาดีกว่า

ประกาศรับสมัครงานที่มีตำแหน่งเรียงกันเป็นพืดคล้ายว่าพนักงาบริษัทนี้จะเกณฑ์กันลาออกจางานทั้งหมด ถือว่าเป็นประกาศที่ไม่น่าไว้ในสักเท่าไหร่ ในสภาวะปกติคงยากที่พนักงานจะยกทีมออกจากงานพร้อมกัน เว้นเสียแต่บริษัทมีปัญหาบางอย่างซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คุณต้องไปสมัครงานกับบริษัทดังกล่าว แต่บางครั้งประกาศลักษณะนี้ก็อาจเชื่อถือได้ ถ้ามีเหตุผลสนับสนุนที่มีน้ำหนักมากพอ เช่น ต้องการขยายงาน เปิดโรงงานใหม่ หรือเพิ่มสายการผลิตสินค้า เป็นต้น
จะตัดสินได้ว่าประกาศไหนจริงหรือไม่จริงคุณต้องรู้ข้อมูลของธุรกิจต่างๆว่าตอนนี้ไม่สภาวะเป็นอย่างไร ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐมากน้อยแค่ไหน มีการลงทุนหรือเพิ่มทุนจากต่างชาติหรือไม่ สินค้าของบริษัทได้รับการตอบรับที่ดีหรือไม่ดีจากผู้บริโภคหรือแม้กระทั่งเจ้าของบริษัทที่มีอำนาจและเครือข่ายหรือไม่ในรัฐบาลปัจจุบัน ข้อมูลทั้งหมดนี้จะช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งคุณสามารถติดตามข่าวสารได้จากสื่อต่างๆในปัจจุบันที่มีอยู่รอบตัว

ถ้าประกาศรับสมัครงานนั้นยังไม่เป็นจริงในขณะที่คุณสมัคร โอกาสที่คุณถูกเรียกสัมภาษณ์ก็เป็นศูนย์ แต่ไม่ใช่ว่าใบสมัครของคุณจะไร้ประโยชน์ซะทีเดียว ถ้ามีการเปิดรับในโอกาสอันใกล้ใบสมัครของคุณก็จะเป็นหนึ่งที่ถูกนำมาพิจารณาแน่นอน เพียงแต่ไม่เร็วอย่างที่คุณคาดไว้เท่านั้น แต่ถ้าเป็นประกาศของบริษัทที่ไม่มีจรรยาบรรณในการรับสมัครงานแล้วละก็ใบสมัครของคุณอาจต้องนอนรออยู่ในตะกร้าอย่างไม่มีจุดหมายจนพลัดผิวเป็นสีเหลือกรอบก็ได้

อธิบายมาถึงตรงนี้ก็แค่อยากบอกว่าการที่คุณยังไม่รู้ว่าสัมภาษณ์งานสักที ไม่ใช่เพราะคุณไม่ดี แต่เป็นเพราะคุณไม่เหมาะต่างหาก ไม่ว่าด้วยคุณสมบัติหรือช่วงเวลาบางคนที่มีคุณสมบัติที่สามารถทำงานตำแหน่งนั้นได้ แต่ไม่เลือกเพราะเรียกเงินเดือนสูงเกินกว่าที่บริษัทจะให้ได้ หรือบางคนเงินเดือนที่ขอมาบริษัทรับได้ แต่ไม่เรียกมาสัมภาษณ์ เพราะเห็นว่าบ้านอยู่ไกลจากที่ทำงานมากๆ เกรงจะไม่สะดวกในการเดินทาง อาจทำให้ต้องตัดสินใจลาออกไปเร็วกว่าที่คิด สู้เลือกคนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงแต่อยู่ใกล้ที่ทำงานดีกว่า

ด้วย 2 เหตุผลข้างต้นฉันจึงไม่อยากให้คุณถอดใจหรือมัวแต่โกรธตัวเอง ไม่ดี ไม่เก่ง ขอให้พยายามต่อไป สักวันต้องมีการพบกันระหว่าง "คุณ" กับ "งานที่เหมาะสม" ซึ่งคงไม่นานเกินไปที่คุณจะรอได้แน่นอน



ขอขอบคุณ...คุณปนัฎดา สังข์แก้ว
จากหนังสือ "กลยุทธ์เด็ด คว้างานดี ชีวิตนี้ไม่มีเตะฝุ่น."
เจ้าของผลงานล่าสุด..."คู่มือคนหางาน 108-1009 ตอบปัญหาคาใจ"

BuddyJob.com © Copyright 2004-2024 All right reserved. | ข้อตกลงการใช้บริการ |